หลายครั้งที่มองหาสาเหตุที่ทำให้ “ผมร่วง” ก็จะเจอบางคำตอบที่คาดไม่ถึง อาจจะดูไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นความเชื่อที่พูดต่อกันมา แล้วคุณหล่ะ ! เคยได้ยินความเชื่อที่เขาว่ากันว่า…ทำแล้วผมร่วงมาบ้างหรือไม่ ?

“ผมร่วง” มากแค่ไหน ? เรียกว่าไม่ปกติ

ในแต่ละวันจะมีผมงอกใหม่และผมร่วงเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยอัตราผมร่วงจะอยู่ที่ 50-100 เส้นต่อวัน ถ้ามากกว่านี้อาจเป็นไปได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น

เช็ค ! ผมร่วงแบบนี้ปกติหรือไม่ อ่านบทความ สัญญาณผมร่วงแบบไหน ? เรียกว่าใกล้ “ล้าน”

เมื่อมีความกังวลมากขึ้น ก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ต้นเหตุของผมร่วงจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร ? คำตอบที่ได้ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือแค่ความเชื่อที่บอกต่อกันมา แต่วันนี้ เฮอร์บิเทียมีคำตอบมาให้ทุก ๆ คนค่ะ !

ความเชื่อ ที่เขาว่ากันว่า…ทำให้ “ผมร่วง”

1. ผู้ชายผมร่วงง่ายกว่าผู้หญิง

ใช่แล้วค่ะ ! นั่นเป็นเพราะว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผมร่วงมากจากฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone หรือ DHT) ทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเล็กลง เส้นผมที่ขึ้นจึงบางและหลุดร่วงได้ง่าย

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าฮอร์โมนเพศชายทำให้ “ผมร่วง” เป็นความจริง เพศชายจึงมีความเสี่ยงผมร่วงมากกว่าเพศหญิง

2. ผมร่วงเพราะใส่หมวกบ่อย

การใส่หมวกเป็นแฟชั่นที่ไม่เคยล้าสมัย นอกจากจะใส่เพื่อความสวยงามแล้วยังช่วยป้องกันหนังศีรษะและเส้นผมจากแสงแดดอีกด้วย แต่การใส่หมวกต้องใส่อย่างเหมาะสม คือ รักษาความสะอาดของหมวกเป็นประจำ และหมวกต้องไม่รัดศีรษะแน่นจนเกินไป

ดังนั้น การใส่หมวกไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ “ผมร่วง” แต่การไม่รักษาความสะอาดจนเกิดเชื้อราบนหนังศรีษะ หรือการใส่หมวกที่แน่นไปจนเลือดไปเลี้ยงรากผมได้ไม่ดี จะทำให้เกิดผมร่วงได้

3. รับประทานอาหารที่มีผงชูรสทำให้หัวล้าน

ผงชูรสใช้เสริมรสทำให้อาหารอร่อยยิ่งขึ้น จึงนิยมนำมาใส่ในอาหาร โดยเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูปและขนบขบเคี้ยว หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ในระยะยาวอาจทำให้ไตเสื่อมและความดันโลหิตสูงได้  แต่ในวารสารทางการแพทย์และงานวิจัย ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานว่ารับประทานผงชูรสแล้วทำให้ “ผมร่วง”

ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีผงชูรสไม่ได้ทำให้ “ผมร่วง” แต่เป็นเพียงความเชื่อผิด ๆ ที่บอกต่อกันมาเท่านั้น !

4. ยิ่งเครียดยิ่งเสี่ยงหัวล้าน

ความเครียดส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งมีส่วนทำให้รูขุมขนบนหนังศีรษะมีขนาดเล็กลง เส้นผมที่งอกใหม่บางลง และมีโอกาสที่จะเกิดผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ได้ง่าย อีกทั้งความเครียดยังกระตุ้นวงจรผมให้งอกและร่วงเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดโรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) ได้ด้วย

ดังนั้น ความเครียดทำให้ “ผมร่วง” ได้ นอกจากนี้ ความเครียดทางจิตใจยังส่งผลต่อพฤติกรรมที่ทำให้เกิดผมร่วงได้อีกด้วย เช่น ทำให้เกิดโรคดึงผม (Trichotillomania)

5. การมัดผมแน่น ๆ บ่อย ๆ ทำให้ผมร่วง

การมัดผมตึง ๆ หรือถักเปียแน่น ๆ ก็เป็นทรงผมที่นิยมทำกันมาก แต่รู้หรือไม่ว่า การทำแบบนี้ถือเป็นการทำลายรากผม เพราะนอกจากจะถูกแรงดึงจากการใช้หวีในขณะรวบผมแล้ว การรวบผมตึงเกินไป จะทำให้ผมถูกแรงดึงอยู่ตลอดเวลาที่ทำผมทรงนี้ ส่งผลให้รากผมอ่อนแอ เส้นผมขาดและหลุดร่วงได้

ดังนั้น การมัดผมแน่นเกินไปทำให้ “ผมร่วง” ได้จริง แต่เป็นแค่ปัจจัยชั่วคราวขณะมัดผมเท่านั้น ! จึงไม่ควรรัดผมเป็นเวลานาน ๆ และหลีกเลี่ยงการรัดผมขณะผมเปียก เพราะเส้นผมจะหนักขึ้นจากการอุ้มน้ำ ทำให้เกิดแรงดึงที่หนังศีรษะมากขึ้น

6. มลภาวะทางอากาศเป็นปัจจัยเร่งผมร่วง

ปัญหาฝุ่นละอองในตอนนี้เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ PM 2.5 ที่กระทบต่อระบบของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่เส้นผม โดยมีงานวิจัยพบว่า อนุภาคขนาดเล็กจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์หรือโรงงาน จะไปลดระดับโปรตีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเส้นผม และการเกาะยึดของเส้นผม

ดังนั้น มลภาวะทางอากาศเป็นตัวเร่งทำให้ “ผมร่วง” ยิ่งถ้าหากเรามีเหงื่อ ก็จะทำให้ฝุ่นละอองเกาะบนเส้นผมแน่นขึ้น จึงควรรักษาความสะอาดของเส้นผมให้เหมาะสมกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ

7. ผมร่วงเพราะขาดสารอาหาร

เส้นผมก็ต้องการสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงไม่ต่างจากร่างกาย โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน และวิตามิน เช่น ไบโอติน หรือ วิตามินบี 7 ที่มีส่วนช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่าย

ดังนั้น การขาดสารอาหารทำให้ “ผมร่วง” อย่างแน่นอน ! เราจึงควรได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อช่วยให้รากผมมีความแข็งแรง อ่านบทความ  7 สารสำคัญ ที่ช่วยฟื้นบำรุง “เส้นผม และหนังศีรษะ” โดยเฉพาะ