โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึมในระหว่างวันบ่อยครั้ง แม้กระทั่งในขณะที่กำลังทำงาน เรียน หรือทำกิจกรรมยามว่างอยู่ก็ตาม

โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคลมหลับมากกว่าผู้หญิง และพบได้บ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายจากประชากร 10,000 คน ส่วนประเทศไทยยังไม่พบข้อมูลของประชากรที่เป็นโรคนี้

โรคลมหลับเกิดจากอะไร?

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าโรคลมหลับเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจาก 4 สาเหตุหลักดังนี้

1.ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยโรคลมหลับมักจะมีระดับสารกระตุ้นให้ตื่นในสมองที่ชื่อว่า ไฮโปเครติน (Hypocretin) ต่ำกว่าปกติ ทำให้การรับรู้ความรู้สึกลดลง ส่งผลให้เกิดอาการหลับแบบฉับพลัน

ไฮโปเครติน (Hypocretin) คือ สารสื่อประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์

2.พันธุกรรม

ผู้ป่วยโรคลมหลับมักไม่มีประวัติว่า คนในครอบครัวเป็นโรคนี้ แต่พบว่าญาติที่ใกล้ชิดของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีความเสี่ยงสูงทางสติในการพัฒนาไปเป็นโรคลมหลับในอนาคต นอกจากนี้โรคลมหลับยังอาจเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม ที่ขัดขวางไม่ให้มีการผลิตสารกระตุ้นอย่างไฮโปเครตินในระดับปกติ แต่กรณีหลังนี้พบได้น้อย

3.ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

งานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ทำให้มีการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านโปรตีนบางชนิดที่ผลิตขึ้นจากสมองส่วนเดียวกับที่ผลิตไฮโปเครติน จึงอาจส่งผลกระทบให้ปริมาณไฮโปเครตินในร่างกายลดลงไปด้วย

4.ปัจจัยอื่น ๆ

คาดว่าปัจจัยบางอย่างอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคลมหลับหรือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติได้ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการนอนหลับ ความเครียด หรือแม้กระทั้งการติดเชื้อไวรัสบางชนิด นอกจากนี้โรคบางชนิดก็ส่งผลให้เป็นโรคลมหลับได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคสมองอักเสบ และโรคมะเร็งสมอง เป็นต้น

โรคลมหลับมีอาการอย่างไร?

เริ่มแรกจะยังไม่แสดงอาการอะไรมากนัก อาจจะแค่รู้สึกว่าง่วงนอนบ่อยมากกว่าปกติ แต่อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างออกไปดังนี้

  • กลางวันหลับบ่อย กลางคืนหลับไม่สนิท
  • เห็นภาพหลอน ครึ่งหลับครึ่งตื่น
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบฉับพลัน
  • หลับฉับพลันทั้ง ๆ ที่ทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ อยู่

โรคลมหลับมีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร?

วิธีป้องกันและรักษาโรคลมหลับ มีดังนี้

  • จัดตารางการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา 
  • หากง่วงนอนควรงีบหลับ ประมาณ 15-20 นาที
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแฮลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  • หากอาการรุนแรงและไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี