“ต้อหิน” เป็นโรคทางตาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “มีความอันตรายถึงขั้นทำให้คนทั่วโลกตาบอดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก” โดยสาเหตุที่ทำให้คนเป็นต้อหิน เกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งเรื่องอายุ พันธุกรรม ความดันในลูกตา ฯลฯ และยังมีอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนคาดไม่ถึงในการทำให้เกิด “ต้อหิน” ได้สูง! เช่นเดียวกัน นั่นคือ การมีปานแดงหรือปานเทา (ปานโอตะ) บนใบหน้า
โดยมีงานวิจัยจากศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช ที่ยืนยันว่า คนที่มีปานแดงหรือปานเทาบนใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและเปลือกตา มีความเสี่ยงสูง! ในการเกิด “ต้อหิน” มากกว่าคนทั่วไป
เนื่องจากคนที่มี “ปานแดง” จะมีเนื้องอกมาอุดตันที่ลูกตา ส่วนคนที่มี “ปานเทา” จะมีเม็ดสีดำเข้ามาอยู่ที่่ผิวหนัง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาอุดตัน ส่งผลให้ความดันในลูกตาสูงจนเกิดการกดทับเส้นประสาทตา ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลาย นำไปสู่การเกิด “ต้อหิน” ในที่สุด
เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายจะทำให้ลานสายตาค่อย ๆ แคบลงและเมื่อเป็นมากขึ้นจะทำให้ “ตาบอดถาวร” และไม่สามารถกลับมามองเห็นได้เป็นปกติ ถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแล้วก็ตาม
โดยงานวิจัยมีวิธีการทดลอง ดังนี้
1. คัดเลือกอาสาสมัคร
อาสาสมัครเป็นเด็กแรกเกิดจนถึงผู้ที่มีอายุ 63 ปี ที่มีปานแดงและปานเทาบนใบหน้า จำนวน 166 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่มีปานแดง จำนวน 83 คน
- กลุ่มที่มีปานเทา จำนวน 83 คน
2. วิธีการเก็บข้อมูล
ทำการเก็บข้อมูล โดยให้อาสาสมัครเข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ก่อนการผ่าตัดเลเซอร์ปานบนใบหน้า เพื่อเก็บข้อมูลว่ามีคนเป็นต้อหินจำนวนกี่คน
3. ผลการเก็บข้อมูล
พบว่าคนที่มีปานแดงบริเวณเปลือกตาจำนวน 15 คน เป็น “ต้อหิน” และคนที่มีปานเทาจำนวน 2 คน มีความดันในลูกตาสูงขึ้น
สรุปผลจากงานวิจัย
จากงานวิจัยสามารถสรุปได้ว่า ผู้ที่มีปานแดงและปานเทาบริเวณหน้าผากและเปลือกตา มีความเสี่ยงในการเกิด “ต้อหิน” มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากจักษุแพทย์ให้คนที่มีปานแดงและปานเทาควรตรวจตาปีละครั้งตลอดชีวิต เพื่อดูค่าความดันในลูกตาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา
นอกจากนี้ เด็กที่มีปานเทาอาจเป็นต้อหินเมื่อเป็นผู้ใหญ่ แต่เด็กที่มีปานแดงอาจเป็นต้อหินได้ตั้งแต่ยังเล็ก!!
ถึงแม้ว่า “ต้อหิน” จะเป็นโรคที่ไม่หายขาด แต่ก็สามารถป้องกัน ชะลอหรือหยุดไม่ให้เป็นต้อหินมากขึ้นได้!!