จู่ๆ ก็มีอาการตาไม่สู้แสง ทนต่อแสงไม่ได้ รู้สึกว่าแสงที่เคยมองเห็นนั้นจ้ากว่าปกติจนต้องหรี่ตาหรือหยีตา อาการเหล่านี้คือภาวะ “ตาแพ้แสง” ที่พบได้ในคนเกือบทุกวัย อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้
ทำความรู้จักภาวะ “ตาแพ้แสง”
ตาแพ้แสง (Light Sensitivity/Photophobia) คือ ภาวะที่ดวงตาทนต่อแสงไม่ได้ โดยทั่วไปอาการตาแพ้แสงนี้จะเป็นเพียงชั่วขณะและค่อยๆ หายเป็นปกติได้เอง แต่หากปล่อยไว้นาน จะเริ่มแสดงอาการบ่อยครั้งขึ้น และส่งผลต่อการมองเห็นได้
อาการร่วมที่พบมากเมื่อเกิดภาวะตาแพ้แสง คือ ตาแห้ง ตาแดง ระคายเคืองที่ดวงตา คันบริเวณหัวตา น้ำตาไหล และวิงเวียนศีรษะ
สาเหตุ “ตาแพ้แสง” ใกล้ตัวกว่าที่คิด!
อาการตาแพ้แสงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักเกิดจากการจ้องจอโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์โดยไม่พักสายตาเป็นระยะเวลานาน การอยู่ในที่แสงจ้า แดดจัด โดยไม่สวมแว่นปกป้องดวงตา และการเพ่งมองบางสิ่งบางอย่างในความสว่างที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้สาเหตุของอาการตาแพ้แสงยังเกิดได้จากความผิดปกติของดวงตา ผลข้างเคียงจากโรคบางโรคและยาบางชนิดที่รับประทานอยู่
หากมีภาวะตาอักเสบติดเชื้อ โรคไมเกรน กระจกตาอักเสบ ต้อกระจกในระยะเริ่มแรก ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการตาแพ้แสงได้เช่นกัน
5 วิธีแก้อาการ “ตาแพ้แสง” ง่ายๆ ด้วยตนเอง
1. พักสายตา 10-15 นาที
เมื่อมีอาการตาแพ้แสงไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ควรหยุดพักสายตาอย่างน้อย 10-15 นาที ด้วยการหยุดจ้อง หรือเพ่งสายตา ให้หลับตาลงครู่หนึ่ง มองในจุดที่รู้สึกว่าสบายตาเพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย
2. หยอดน้ำตาเทียม
อาการตาแห้ง นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของอาการร่วมเมื่อเกิดภาวะตาแพ้แสงแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตาแพ้แสงด้วยเช่นกัน การหยอดน้ำตาเทียมจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา และทำให้ดวงตาสดชื่น บรรเทาอาการระคายเคืองตา
3. ประคบอุ่นด้วยฝ่ามือ
เริ่มจากการประกบฝ่ามือและถูเบา ๆ ต่อเนื่อง 30-45 วินาที หรือจนกว่าจะรู้สึกถึงความอุ่นที่ฝ่ามือ จากนั้น ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างประคบเบา ๆ ที่ดวงตาค้างไว้ 30 วินาที และถูมือซ้ำอีกครั้ง จากนั้นใช้มือป้องบริเวณดวงตาและลืมตาภายใต้ฝ่ามือนั้น 30 วินาที เพื่อลดอาการตาล้าและช่วยบรรเทาอาการตาแพ้แสง
4. หลบเลี่ยงแสงจ้า
หากเริ่มมีอาการตาไม่สู้แสง ควรหาที่มืดเพื่อหลบเลี่ยงจากแสงหน้าจอ รวมถึงแสงจ้าจากแสงแดดและหลอดไฟ หากอยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงได้ ควรหาที่ปลอดภัยและพักหลับตาอย่างน้อย 1-3 นาที
5. เติมสารอาหารบำรุงสายตา
อีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะตาแพ้แสง คือ ถนอมและรักษาดวงตาด้วยการเลือกรับประทานผักที่มีสีเขียว เหลือง และส้ม เพื่อเติมวิตามินและแร่ธาตุสำคัญต่อการบำรุงสายตาโดยเฉพาะวิตามินเอ ลูทีน ซีแซนทีน และเบต้าแคโรทีน
ทั้งวิตามินเอ ลูทีน ซีแซนทีน และเบต้าแคโรทีน ล้วนมีส่วนช่วยบำรุงสายตา ชะลอความเสื่อมของดวงตา เสริมสร้างการทำงานของจอประสาทตา และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
แม้ว่าอาการตาแพ้แสงจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นเพียงภาวะที่เกิดชั่วคราว แต่หากปล่อยไว้นาน อาจนำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและรบกวนการมองเห็นได้ จึงควรป้องกันก่อนสายเกินแก้ เมื่อต้องออกแดดหรือเผชิญกับพื้นที่แสงจ้าควรสวมแว่นกันแดดหรือแว่นกรองแสง หลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ และที่สำคัญ ต้องหมั่นเติมสารอาหารบำรุงดวงตาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก…