“ต้อหิน” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกตาบอดเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วประเทศมากถึง 36% และคาดว่าในปีนี้จะมีคนไทยป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นราว 700,000 คน
สาเหตุการเกิด “ต้อหิน”
ต้อหิน เกิดจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาอุดตัน ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนเกิดการกดทับเส้นประสาทตา เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลายจะทำให้ลานสายตาค่อย ๆ แคบลงและเมื่อเป็นมากขึ้น ก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหรือตาบอดในที่สุด โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหิน มีดังนี้
1. “ต้อหิน” ตามวัย
ต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
ปัจจุบันพบว่า เด็กเล็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน ซึ่งบางรายอาจเป็นตั้งแต่แรกเกิด !
2. “ต้อหิน” กรรมพันธุ์
สำหรับคนที่มีพ่อ แม่หรือญาติพี่น้องเป็นต้อหิน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมากขึ้น จึงมีคำแนะนำจากจักษุแพทย์ให้ตรวจตาเป็นประจำทุกปี
3. ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นหรือยาว
คนที่มีสายตาสั้นมาก ๆ จะมีโอกาสเป็น “โรคต้อหินชนิดมุมเปิด” และคนที่สายตายาวมาก ๆ จะมีโอกาสเป็น “โรคต้อหินชนิดมุมปิด” มากกว่าคนที่มีสายตาปกติ
- โรคต้อหินชนิดมุมเปิด พบได้บ่อย แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ความดันตาสูงและความดันตาปกติ ซึ่งจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง แต่สายตาจะค่อย ๆ มัวลง
- โรคต้อหินชนิดมุมปิด พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิด เกิดจากการที่มุมตาถูกม่านตาปิดกั้น ส่งผลให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ จึงทำให้ความดันในลูกตาสูง
รู้หรือไม่ ! ผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ 600 ขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็น “ต้อหิน” มากกว่าคนสายตาปกติ
4. ผู้ที่มีปัญหาต้อกระจก
ผู้ที่เป็นต้อกระจก หากปล่อยทิ้งไว้นานจนต้อกระจกสุก (ภาวะที่เลนส์ตากลายเป็นสีขุ่นขาวทั้งหมด) และไม่ได้รับการผ่าตัด จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต้อหินจากการที่เลนส์ตาบวมและโปรตีนในเลนส์ตาไปอุดตันการระบายน้ำในลูกตา
ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นขาว จึงทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในดวงตาได้ ส่งผลให้เกิดอาการตามัว มองเห็นภาพเบลอ สีเพี้ยน
5. ผู้ที่มีปานแดงหรือปานเทา (ปานโอตะ) บนใบหน้า
มีงานวิจัยจากศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช พบว่า คนที่มีปานแดงหรือปานเทา (ปานโอตะ) บนใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและเปลือกตา มีความเสี่ยงสูง! ในการเกิดต้อหินมากกว่าคนทั่วไป
เนื่องจากคนที่มี “ปานแดง” จะมีเนื้องอกมาอุดตันที่ลูกตา ส่วนคนที่มี “ปานเทา” จะมีเม็ดสีดำเข้ามาอยู่ที่ผิวหนัง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาอุดตัน ส่งผลให้ความดันในลูกตาสูงจนเกิดการกดทับเส้นประสาทตา ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลาย นำไปสู่การเกิดต้อหินในที่สุด
** สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ >> เตือน! มีปานแดง-ปานเทาบนใบหน้า เสี่ยงเป็นต้อหิน
6. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน จะมีอาการเส้นเลือดที่จอตาผิดปกติ โดยเส้นเลือดเหล่านี้จะไปอุดทางเดินของน้ำภายในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้น นำไปสู่การเกิดต้อหินในที่สุด
ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน สูง!!
7. ผู้ที่เป็นโรคตาบางชนิด
ผู้ที่เป็นโรคตาหรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อกระจก มีเนื้องอกในลูกตา เคยผ่าตัดดวงตา หรือมีเลือดออกในลูกตาจากอุบัติเหตุ จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้น
ม่านตาอักเสบ เป็นการอักเสบของม่านตา รวมไปถึงการอักเสบของเนื่อเยื่อต่าง ๆ ที่บุอยู่ภายในลูกตา เมื่อเป็นม่านตาอักเสบจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหินและต้อกระจกได้
8. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะคนที่เคยช็อคหรือหัวใจวายมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็นต้อหินมากขึ้น
9. อาชีพหรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อความดันตา
สำหรับผู้ที่มีอาชีพเป็นนักร้องโอเปร่า นักดำน้ำ นักยกน้ำหนัก คนที่เล่นโยคะท่าศีรษะ และคนที่เป็นนักดนตรีประเภทเป่า เช่น ขลุ่ย แซกโซโฟน จะมีความดันตรงบริเวณคอและใบหน้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีความดันตาสูงขึ้น
แพทย์เผย! 18-36% ของคนทั่วไปที่ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานาน จะพบความดันตาในตาสูง จนเกิด “ต้อหิน” ตามมาในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โรงพยาบาลพญาไท