ว่ากันว่า “ต้อลม ต้อเนื้อ” เป็นโรคทางตาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคของคนแก่ หรือวัยสูงอายุ แต่อันที่จริงแล้ว คน “วัยทำงาน” ที่ต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งท่ามกลางแสงแดด ฝุ่นควัน และมลภาวะต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นเดียวกัน

ต้อลม vs ต้อเนื้อ ต่างกันอย่างไร?

อันที่จริงแล้วต้อลมกับต้อเนื้อเป็นภาวะที่เกิดจากสาเหตุเดียวกัน นั่นคือ เยื่อบุตาขาวเกิดการเสื่อมสภาพจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ให้ดวงตาระคายเคือง แต่มีความแตกต่างกันที่ลักษณะของต้อ ดังนี้

ต้อลม (Pinguecula)

“ต้อลม” มีลักษณะเป็นแผ่นนูนสีขาวเหลืองอยู่บริเวณเยื่อบุตาขาว ใกล้ ๆ ตาดำ

ต้อเนื้อ (Pterygium)

“ต้อเนื้อ” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้อลิ้นหมา เป็นโรคที่เกิดต่อเนื่องมาจากต้อลม โดยมีลักษณะเป็นแผ่นพังผืดสีแดงคล้ายรูปสามเหลี่ยม ที่ค่อย ๆ ลุกลามจากเยื่อบุตาขาวเข้ามายังกระจกตาบริเวณตาดำ

สรุปว่า !! หากแผ่นนูนอยู่ในส่วนของตาขาว จะเรียกว่า “ต้อลม” แต่หากเกิดการลุมลามเข้าไปยังกระจกตาดำ จะเรียกว่า “ต้อเนื้อ”

ผู้ที่เป็นต้อลมต้อเนื้อในระยะที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ แต่หากมีการอักเสบมากขึ้น จะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ระคายเคืองตา คันตา
  • แสบตา น้ำตาไหล
  • ตาแห้ง ตาแดง
  • รู้สึกเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา

กรณีที่ต้อเนื้อเป็นมากขึ้น จนลุกลามเข้าไปกลางกระจกตาและบดบังการมองเห็น จะทำให้ตามัว และสายตาเอียงได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ที่เร่งการเกิดต้อลมต้อเนื้อในคนวัยทำงาน พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 สาเหตุหลัก ดังนี้

1. รังสี UV จากแสงแดด

หากดวงตาสัมผัสกับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดต้อลม และ ต้อเนื้อ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ต้อต่างๆ หนามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

2. ลม

ลมที่พัดอยู่รอบตัวเราโดยเฉพาะลมร้อน จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุตาขาวที่มีลักษณะปกติเกิดแผ่น หรือก้อนนูน เนื่องจากมีการสะสมไขมัน โปรตีน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดต้อลม ต้อเนื้อ ได้

3. ฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศ

ฝุ่นละออง ฝุ่นควันตามท้องถนน นอกจากจะเป็นพิษต่อปอดแล้ว ยังทำให้เกิดต้อลม ต้อเนื้อ ได้อีกด้วย เนื่องจากฝุ่นควันเหล่านี้ ส่วนใหญ่ปนเปื้อนไปด้วยก๊าซพิษอย่าง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ทำให้เยื่อบุตาขาวเกิดการระคายเคือง 

รู้หรือไม่ ! ฝุ่นพิษ PM 2.5 จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นต้อลม ต้อเนื้อ จะมีอาการแสบตา คันตา ตาแดงมากกว่าปกติ และบางรายถึงขั้นตาอักเสบได้ !!

4. ความร้อน ไอร้อน

ความร้อนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น ความร้อนจากแสงแดด ความร้อนจากเตาไฟ ถือเป็นตัวกระตุ้นให้เยื่อบุตาขาวเกิดการระคายเคือง

ผู้ที่ประกอบอาชีพ หรือทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น วิศวกร นักกีฬากลางแจ้ง เชฟ เสี่ยงเป็นต้อมากกว่าคนทั่วไป !!

5. ภาวะ “ตาแห้ง” 

การใช้คอนแทคเลนส์ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจ้องมือถือเป็นระยะเวลานาน ๆ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดอาการ “ตาแห้ง” ซึ่งส่งผลให้ระคายเคืองตาได้

แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ป้องกันอาการตาแห้ง

ถึงแม้ว่า “ต้อลม” และ “ต้อเนื้อ” จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง แต่เราสามารถหาวิธี “ป้องกัน” หรือ “ชะลอ” การเกิดโรคนี้ได้ โดยวิธีที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นควัน ลม และแสงแดด ควบคู่ไปกับการสวมแว่นกันแดด จะช่วยให้ต้อมีขนาดเล็กลง

นอกจากนี้ หากเกิดการระคายเคืองตา แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา