โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) คือโรคที่เกิดจากการเสื่อมหรือสึกกร่อนของกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า หากฟังจากชื่อโรคอาจเหมือนเข้าใจได้ง่าย แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม”

ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการปวดขัดในข้อเข่า เข่าลั่น ยืดหรืองอเข่าไม่สะดวก

8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม”

1. การวิ่งบ่อย ๆ ทำให้ข้อเข่าเสื่อมไว

หลายคนเข้าใจว่าการวิ่งคือการทำลายกระดูกบริเวณข้อเข่าเพราะขณะวิ่งอาจเกิดการกระแทกของกระดูกในข้อ แต่แท้จริงแล้วการออกกำลังกายด้วยการวิ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากการวิ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อและเซลล์บริเวณเข่าแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อที่สึกหรอ รวมถึงมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของน้ำหล่อเลี้ยงในข้อให้ไหลเวียนได้ดี

น้ำหล่อเลี้ยงในข้อ มีหน้าหน้าที่ให้สารอาหารกับเซลล์กระดูกอ่อนที่ข้อต่อและทำหน้าที่หล่อลื่น ไม่ให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูก

หากวิ่งแล้วเกิดอาการเจ็บเข่า อาจมีสาเหตุมาจากการวิ่งหรือลงน้ำหนักเท้าผิดวิธี ฝืนวิ่งเป็นระยะเวลานาน ไม่มีการวอร์มก่อนเริ่มวิ่ง

2. อาการปวดเข่า เข่าลั่น ถือเป็นเรื่องปกติ

เข่าลั่น หรือ การเกิดเสียงกรอบแกรบบริเวณข้อเข่าขณะขยับร่างกายนั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดได้ทั่วไป มีสาเหตุมาจากการขบกันของผิวกระดูกอ่อนและการสะสมของแก๊สในข้อเข่า แต่หากคุณมีอาการเข่าลั่นร่วมกับการปวด ขัด ฝืดติดบริเวณข้อเข่า เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม

หากมีอาการเข่าลั่นร่วมกับการปวด ขัด ฝืดติดบริเวณข้อเข่าทุกครั้งที่มีการขยับร่างกาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้อง

3. การรับประทาน “แคลเซียม” ช่วยรักษาได้

อย่างที่ทราบกันว่า แคลเซียม คือสารอาหารจำเป็นที่ช่วยเสริมมวลกระดูกให้แข็งแรง มีผลต่อการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน แต่ไม่มีผลต่อการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการที่ผิวกระดูกอ่อนบริเวณเข่าสึกกร่อนและน้ำหล่อเลี้ยงข้อลดลงตามอายุ เมื่อระหว่างข้อต่อขาดน้ำหล่อเลี้ยงจึงเกิดการเสียดสีกันของกระดูก

ดังนั้น หากต้องการบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมควรรับประทานคอลลาเจนชนิดที่ 2 (Undenatured Collagen Type II) ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวด ลดการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อน ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ

4. ห้ามออกกำลังกายโดยเด็ดขาด

การออกกำลังกายนับเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการช่วยบริหารเข่า และเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อข้อต่อบริเวณเข่า แต่จะมีข้อจำกัดเฉพาะกิจกรรมที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดแรงกระแทกรุนแรงที่เข่า เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนออกกำลังกาย เพื่อความเหมาะสมตามอาการ อายุ และการรักษา

5. พบในผู้ที่กระดูกเปราะบางเท่านั้น

แม้ว่ากระดูกในร่างกายของคุณจะแข็งแรงดี แต่ก็มีสิทธิ์เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกันหากไม่ถนอมข้อเข่า ปล่อยให้ข้อเข่าถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งขัดสมาธิเป็นระยะเวลานาน กระโดดบ่อย ๆ บนพื้นแข็ง วิ่งลงน้ำหนักเท้าผิดวิธี นอกจากนี้ การมีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน กล้ามเนื้อขาและเข่าไม่แข็งแรง กรรมพันธุ์ ก็ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม

หากมีประวัติบาดเจ็บที่เข่า หรือมีโรคอักเสบอื่น ๆ เกี่ยวกับข้อเข่า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

6. เป็นโรคของผู้สูงอายุ

จริงอยู่ที่โรคข้อเข่าเสื่อมนี้มักพบในผู้สูงวัย แต่ความเชื่อนี้ถือเป็นความเชื่อที่ทำให้คนหนุ่มสาวหลายคนมองข้ามโรคข้อเข่าเสื่อมไปเพราะคิดว่าไกลตัว แม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อยในช่วงอายุ 20-30 ปี แต่อาจเริ่มมีสัญญาณการปวดหรือการอักเสบแสดงออกมาให้เห็น หากไม่ดูแลรักษาเข่าตั้งแต่วัยนี้อาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมในเวลาต่อมาได้

การใส่ส้นสูง ยืน และนั่งงอเข่าเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร

7. เมื่อสูงวัย ทุกคนต้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม แม้จะเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ หากมีการดูแลรักษา ถนอมเข่าตั้งแต่อายุยังน้อย เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ผิวกระดูกอ่อนและข้อต่อ ออกกำลังกายถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุได้

โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

8. รักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเข่า ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเข่าเพื่อลดแรงกระแทกหรือแรงกดทับบริเวณเข่า ใช้ยาเพื่อลดอาการปวดและต้านการอักเสบ การฉีดเพื่อเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ การเลือกรับประทานสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อ

การรักษาแต่ละแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อม