ปวดเข่า เข่าลั่น ฝืดติดในข้อเข่า สัญญาณเตือน “โรคข้อเข่าเสื่อม” หากปล่อยไว้นานอาจถึงขั้นต้อง “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูง ยังมีความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มาพร้อมกับการผ่าตัดอีกด้วย !!

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมหรือสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อบริเวณข้อเข่า ในระยะแรกผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดข้างในเข่า เข่าลั่น รู้สึกฝืดติดในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว หากปล่อยให้การเสื่อมรุนแรงขึ้นอาจถึงขั้นขาโก่ง กระดูกเข่าผิดรูป ข้อเข่าอักเสบ ลุก เดิน และนั่งเองลำบาก

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย “การผ่าตัด”

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด คือ การผ่าตัดนำส่วนผิวข้อที่เสื่อมออกและแทนที่ด้วยโลหะสังเคราะห์หรือพลาสติกชนิดพิเศษ เรียกว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม”

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนี้นับว่าเป็นการรักษาที่จัดการกับอาการปวดข้อเข่าได้จริงและเห็นผลในการรักษารวดเร็ว หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนที่มีข้อเข่าปกติ แต่ยังคงต้องถนอมข้อเข่าเทียมไม่ต่างกับตอนที่ป่วยข้อเข่าเสื่อม

อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของการใช้งานและการถนอมข้อเข่าเทียม

ข้อเข่าเสื่อมระยะไหน ควร “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” ?

หากคุณเริ่มป่วยข้อเข่าเสื่อมรุนแรงถึงขั้นกระดูกบริเวณเข่าบิดเบี้ยวหรือผิดรูป ขาโก่ง เหยียดและงอเข่าไม่ได้ มีอาการอักเสบรุนแรง ปวดเข่าจนไม่สามารถเดิน ลุก หรือขยับร่างกายได้เอง การเลือกวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจดูระยะอาการข้อเข่าเสื่อมและหาทางรักษาอื่น ๆ ก่อน

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำเป็นต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโดยละเอียด เนื่องจากเพศ อายุ และระดับความรุนแรงของการเสื่อมล้วนมีผลต่อการผ่าตัดทั้งสิ้น

4 ข้อควรรู้ ก่อนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

1. ค่าใช้จ่ายสูง

ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150,000 – 300,000 บาท / 1 ข้าง หรือราว ๆ 400,000 – 600,000 บาท / 2 ข้าง แตกต่างกันไปตามแพ็คเกจของโรงพยาบาลที่เลือกรักษา ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้อาจยังไม่รวมค่าห้องพักของโรงพยาบาล ค่ายาบางชนิด และค่าบริการอื่น ๆ ของโรงพยาบาล

หากข้อเข่าเสื่อมอยู่ในระยะรุนแรง จะส่งผลให้การผ่าตัดมีความยากกว่าปกติ และมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นกว่าเดิม

2. อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

แม้ว่าการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนี้จะได้รับความนิยมและเห็นผลรวดเร็ว แต่กลับมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกันดังนี้

  • การติดเชื้อจากการผ่าตัด
  • เลือดคั่งบริเวณขาและเข่า ใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าเพื่อนำก้อนเลือดออก
  • ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณเข่า ขา หรือเท้า
  • แผลผ่าตัดไม่สมาน เกิดการแยกของแผล
  • ในบางรายที่เสียเลือดมากอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของระบบหัวใจ
  • เส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัดได้รับความเสียหาย
  • ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • เส้นเลือดบริเวณที่ทำการผ่าตัดเกิดการฉีกขาด
  • หลังการผ่าตัดอาจมีอาการเวียนหัว อาเจียน หายใจลำบาก

นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวนี้ หลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียมอาจพบปัญหาเข่าลั่นอยู่บ่อยครั้ง หากไม่มีอาการอื่นร่วมกับเข่าลั่นถือว่าปกติ แต่หากมีอาการเข่าลั่นร่วมกับอาการปวด บวม อักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะเป็นไปได้ว่าข้อเข่าเทียมอาจอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง เส้นเอ็นบริเวณข้อเข่าได้รับความเสียหาย หรืออาจเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ที่บริเวณข้อเข่า

ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการผ่าตัดของแพทย์และคนไข้

3. ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรให้ร่างกายได้พักฟื้นจนแน่ใจว่าไม่มีอาการข้างเคียงหลังผ่าตัด ทำการบริหารขาและเข่าตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง นั่งไขว่ห้าง ไม่ควรยืน เดิน วิ่ง เป็นระยะเวลานาน ๆ เลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้ข้อเข่าหนัก ลดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้ข้อเข่าทำงานหนัก และคอยสังเกตความผิดปกติของข้อเข่า

การไม่ถนอมข้อเข่าหลังผ่าตัด อาจส่งผลให้ข้อเข่าเทียมเกิดการเสียหาย นำไปสู่การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่อีกครั้ง

4. มีอีกหลายวิธีในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

นอกจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ช่วยให้อาการข้อเข่าเสื่อมดีขึ้นได้ เช่น

  • การฝึกบริหารข้อเข่า เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่าแข็งแรง ปรับพฤติกรรมที่ทำลายข้อเข่า เลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณเข่า
  • การเลือกรับประทานยาหรืออาหาร ที่มีส่วนช่วยลดอาการปวด บรรเทาการอักเสบ ช่วยซ่อมแซมผิวข้อที่สึกหรอและช่วยเพิ่มน้ำเลี้ยงข้อ
  • การฉีดน้ำเลี้ยงข้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดการเสียดสีระหว่างกระดูกบริเวณข้อเข่า และช่วยให้ข้อเข่าสามารถขยับได้ดียิ่งขึ้น

หากไม่มีอาการข้อเข่าเสื่อมถึงขั้นกระดูกผิดรูป ก็สามารถเลือกวิธีการรักษาดังกล่าวได้ แต่ทางที่ดีคือควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเลือกวิธีรักษา

“เริ่มดูแลข้อเข่าตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพข้อเข่าที่ดีในวันข้างหน้านะคะ”