ถ้าหากพูดถึงโรคกระดูกที่พบบ่อยและสร้างความทรมานให้กับผู้สูงอายุ ก็คงหนีไม่พ้น “ข้อเข่าเสื่อม” ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยทรมานจากอาการปวดเข่า ไม่ว่าจะยืน เดิน หรือวิ่ง และถ้าหากเป็นหนักมาก ก็อาจทำให้ขาผิดรูปได้

ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าสึกหรอ ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อเสียดสีกันจนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพ ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อเดินหรือยืนนาน ๆ

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาและบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีงานวิจัยชี้ว่า การรักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในระยะยาว อาจกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแย่ลงกว่าเดิมเสียเอง !

ยาสเตียรอยด์ คืออะไร ?

สเตียรอยด์ เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น แต่สเตียรอยด์ที่ใช้ทางการแพทย์ จะเป็นสารสังเคราะห์ ชื่อว่า คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย แต่มักจะถูกนำมาใช้เมื่อใช้ยาอื่นไม่ได้ผล เนื่องจากมีอาการข้างเคียงสูง

งานวิจัยชี้ ใช้สเตียรอยด์ในระยะยาว ทำให้กระดูกเข่าพัง

หนึ่งในวิธีการรักษาอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม คือการฉีดสเตียรอยด์เข้ากระดูกข้อเข่า เนื่องจากสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสเตียรอยด์บ่อย ๆ หรือใช้อย่างต่อเนื่อง จะเกิดการสะสมในร่างกาย และเป็นอันตรายได้

ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยของแพทย์จาก Tufts Medical Center ร่วมกับนักวิจัยจาก Boston University ที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพระยะยาวของการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เทียบกับการฉีดน้ำเกลือ โดยการทดลองนี้ ติดตามผลเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี

สำหรับรายละเอียดการทดลอง มีดังนี้

1. คัดเลือกอาสาสมัคร

อาสาสมัครเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ความรุนแรงของอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง อายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 119 คน โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ ชนิด Triamcinolone ความเข้มข้น 40 mg/mL จำนวน 59 คน
  2. กลุ่มที่ได้รับการฉีดน้ำเกลือ (0.9% sodium chloride) จำนวน 60 คน

อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการฉีดสารครั้งละ 1 มล. ทุก ๆ สามเดือน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี

2. วิธีเก็บผลการทดลอง

วัดผลการทดลองด้วยตัวชี้วัดหลัก คือ

  1. ประเมินความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนด้วย Magnetic resonance imaging (MRI)
  2. ประเมินความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ด้วยแบบทดสอบ WOMAC (Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis)

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินผลตัวชี้วัดรองอื่น ๆ ด้วย เช่น การวัดความหนาแน่นกระดูก การตายของกระดูก และปริมาณน้ำในข้อ เป็นต้น

3. ผลการทดลอง

ความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน

ผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ ทุก ๆ 3 เดือน ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี กระดูกอ่อนมีการเสื่อมสภาพลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ !

นั่นหมายความว่า การใช้ยาสเตียรอยด์รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะยาว มีผลทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพลง

ความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม

จากการทดลองนี้ยังพบว่า แม้จะฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่ข้อเข่าต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ก็ไม่ได้ทำให้ความความเจ็บปวด ความฝืดข้อ และประสิทธิภาพการทำงานของข้อเข่าแตกต่างไปจากการฉีดเพียงแค่น้ำเกลือเลย

รวมไปถึงตัวชี้วัดรองอื่น ๆ เช่น ความหนาแน่นกระดูก การตายของกระดูก และปริมาณน้ำในข้อ ก็ไม่แตกต่างด้วยเช่นกัน

การศึกษาครั้งนี้บอกอะไรเรา ?

จากผลการทดลองที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถสรุปได้ว่า การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะยาวนั้น นอกจากจะไม่ทำให้อาการปวด ความฝืดของข้อเข่า และประสิทธิการทำงานของเข่าดีขึ้นแล้ว กลับเป็นการเร่งให้กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าเดิม

“แม้ว่าการฉีดสเตียรอยด์เข้าข่อเข่า จะเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แต่เราก็ควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาในระยะยาวด้วยนะคะ”