จากสถิติปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อมากกว่า 6 ล้านคน โดย “ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)” เป็นอาการที่พบมากที่สุด เนื่องจากเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่ มีการเคลื่อนไหว และต้องรับน้ำหนักของร่างกายเกือบตลอดเวลา จึงทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย
ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าสึกหรอ ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อเสียดสีกันจนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพ ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อเดินหรือยืนนาน ๆ
พลังแห่ง “งาดำ” ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม
เซซามิน (Sesamin) เป็นสารสำคัญที่พบในงาดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกอ่อนข้อเข่าให้แข็งแรงขึ้น และบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
งาดำเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านสรรพคุณอื่น ๆ ของงาดำ
งานวิจัย ลดอาการปวดข้อเข่าด้วย “งาดำ”
ในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศอิหร่าน ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของเมล็ดงาดำในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยมีวิธีการทดลอง ดังนี้
1. คัดเลือกอาสาสมัคร
อาสาสมัครเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม จำนวน 45 คน โดยความรุนแรงของอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของ American College of Rheumatology (ACR) ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้
- เพศชาย และหญิงอายุ 50 – 70 ปี
- มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 18.5 – 30 kg/m2
- ไม่แพ้งาดำ
- ไม่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ไม่เป็นโรคเบาหวาน
- ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับและไต
- ไม่มีประวัติการเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
- ไม่มีประวัติสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่รับประทานอาหารเสริม วิตามิน หรือแร่ธาตุ
- ไม่ใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
2. แบ่งกลุ่มการทดลอง
จากนั้นจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มทดลอง จำนวน 22 คน จะได้รับงาดำป่น 40 กรัมต่อวัน
- กลุ่มควบคุม จำนวน 23 คน
โดยในแต่ละวัน อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับอะเซตามิโนเฟนและกลูโคซามีนในปริมาณที่เท่ากัน
ติดตามผลเป็นระยะเวลา 2 เดือน
3. วิธีเก็บผลการทดลอง
วัดผลการทดลองด้วยแบบประเมิน 2 รูปแบบ ดังนี้
- Visual Analog Scale (VAS) เป็นการวัดความรุนแรงของอาการปวดขณะเคลื่อนไหว หรือหยุดพัก โดยให้คะแนนตั้งแต่ 0 คือ ไม่ปวดเลย จนถึง 10 คือ ปวดรุนแรงมากที่สุด
- Timed Up and Go (TUG) เป็นการทดสอบความสามารถในการเดินและการทรงตัวของผู้ป่วย ซึ่งประเมินจากระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบ ยิ่งใช้ระยะเวลาในการทดสอบน้อย แสดงว่ามีความสามารถในการเดินและการทรงตัวที่ดี
4. ผลการทดลอง
คะแนนอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่า (VAS)
หลังการทดลอง 2 เดือน กลุ่มทดลองที่ได้รับงาดำป่น 40 กรัมต่อวัน มีอาการปวดเข่าลดลงถึง 63% ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีอาการปวดเข่าลดลงเพียง 22% ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ระยะเวลาที่ใช้ในการทดสอบการเดินและทรงตัว (TUG)
และกลุ่มทดลองที่ได้รับงาดำป่น 40 กรัมต่อวัน ใช้ระยะเวลาในการทดสอบ TUG ลดลงถึง 10% ขณะที่กลุ่มควบคุมใช้เวลาลดลงเพียง 3% ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปผลจากงานวิจัย
ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ที่ได้รับงาดำป่น 40 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 2 เดือน มีอาการโดยรวมดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จึงสามารถสรุปได้ว่า “งาดำ” สามารถช่วยลดอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวและการทรงตัวได้