เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากถึงร้อยละ 80 ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการรั้งของจอประสาทตา จนเกิดภาวะของ “จอประสาทตาลอก” ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือมองเห็นเงาดำเหมือนมีม่านบัง ในขั้นรุนแรง ผู้ป่วยอาจตาบอดถาวรได้
ภาวะเบาหวานขึ้นตา แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. เบาหวานขึ้นตา ระยะเริ่มต้น
เป็นระยะที่เส้นเลือดฝอยที่จอประสาทตา (Retina) โป่งขึ้นจากน้ำตาลอุดตัน มีจุดเลือดเล็ก ๆ กระจายทั่วจอประสาทตา และเส้นเลือดใหญ่ที่จอประสาทตาขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงเส้นประสาทของจอตา และจุดภาพชัด (Macula) อาจเริ่มมีอาการบวม
อาการเบาหวานขึ้นตา ระยะเริ่มต้น
- มีอาการตาพร่ามัว
- เห็นจุดดำ และเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
ในระยะนี้ ผู้ป่วยอาจยังไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีอาการผิดปกติน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ตัว และไม่ได้เข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์ จะตรวจพบก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะรุนแรงแล้ว
2. ระยะรุนแรง (จอประสาทตาลอก)
เป็นระยะที่จอประสาทตาสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนเส้นเลือดฝอยเดิม ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำตาลที่ค้างอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก จนเกิดการอุดตัน ซึ่งเส้นเลือดเกิดใหม่นี้ ยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้ผนังเส้นเลือดไม่แข็งแรง เกิดเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา กระจายทั่วจอประสาทตา จนเกิดเป็นพังผืดที่รั้งจอประสาทตา ทำให้วุ้นในตาหลุดลอก ซึ่งเป็นสาเหตุของ “จอประสาทตาลอก” ได้
เส้นเลือดเกิดใหม่ อาจไปแทรกแซงการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา จนท่อน้ำหล่อเลี้ยงตาเกิดการอุดตัน ส่งผลให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต้อหินตามมาได้
อาการเบาหวานขึ้นตา ระยะรุนแรง (จอประสาทตาลอก)
- เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชเกิดขึ้นในตา
- เห็นเงาดำ เหมือนมีม่านบัง
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้