เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกก็เสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติ จนอาจเกิดปัญหา “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่ยกของหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือแม้แต่ชาวออฟฟิศที่นั่งทำงานเป็นเวลานาน

“หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพหรือสึกกร่อน จนเคลื่อนตัวออกจากจุดเดิมไปกดทับบริเวณเส้นประสาท

โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิเช่น

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • ได้รับแรงกระแทกสูง เช่น น้ำหนักตัวมาก ออกกำลังกายหนัก ทำงานที่เกี่ยวกับการยกของหนัก หรือเคลื่อนไหวผิดท่าแบบฉับพลัน
  • นั่งทำงานนาน ๆ ขับรถนาน ๆ 
  • การสูบบุหรี่ ส่งผลให้ออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพได้ไวขึ้น

อ่านบทความ 5 ปัจจัยเสี่ยง “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” คลิกที่นี่

อาการแบบไหน เข้าข่าย “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”

อาการของ  “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณหลังส่วนล่าง หลังคอ ชาร้าวลงแขนและขา โดยทุกคนสามารถสังเกตอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. ปวดคอ

สำหรับผู้ที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ คุณจะรู้สึกปวดคอ ปวดไหล่ ปวดแขน เมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การไอ จาม

2. ปวดหลัง ร้าวลงขา

หากหมอนรองกระดูกเคลื่อนบริเวณหลังส่วนล่าง คุณจะรู้สึกปวดหลัง ลามไปจนถึงปวดเอวและสะโพก ในบางคนหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะรู้สึกปวดอย่างรุนแรงตั้งแต่สะโพก ร้าวลงไปยังน่องขาหรือเท้า

3. ชาปลายนิ้ว

ผู้ที่เป็นรองหมอนกระดูกทับเส้นประสาท อาจมีอาการชาหรือเสียวซ่าบริเวณปลายนิ้วร่วมด้วย

4. กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักเกิดขึ้นต่อเมื่อเส้นประสาทได้รับผลกระทบจากการกดทับของกระดูก ซึ่งทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหว ถือของ ยกของหนักหรือเดินได้ตามปกติ

ควรเข้าพบคุณหมอทันที หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการปวดตามร่างกาย กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง และรู้สึกแขนขาชา

ป้องกัน “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ได้ง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง   

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงไม่ให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการรักษาน้ำหนักให้คงที่ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 

อีกทั้งควรเลิกสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันร่างกายขาดออกซิเจนที่จะนำไปหล่อเลี้ยงกระดูก ป้องกันกระดูกเปราะบางแตกหัก

ที่สำคัญคือ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพื่อเป็นการถนอมกระดูกของเราให้สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่