ในโลกยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ การจ้องจอมือถือ หรือจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว นานวันเข้าอาจทำให้หลายคนเกิดอาการ ปวดหัว ปวดตา หรือตาพร่ามัว จากการใช้สายตาอย่างหนักตามมาได้ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายเองได้ เพียงพักสายตาชั่วครู่ หรือทานยาลดอาการปวด แต่หากวันใดที่อาการรุนแรงขึ้น เกิดบ่อยครั้งขึ้น อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว!
วันนี้ Herbitia จะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงสาเหตุเกี่ยวกับอาการปวดตา ปวดหัว ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง รวมถึงวิธีป้องกันอาการปวดตา ปวดหัว แบบง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มาฝากกันค่ะ
ปวดตา ปวดหัว เกิดจากอะไร?
อาการปวดตา ปวดหัว ล้วนเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยควรเริ่มจากสังเกตอาการของตัวเองว่าจัดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งหลัก ๆ จะเกิดจาก 3 สาเหตุ ดังนี้
1.ความเครียดของกล้ามเนื้อ
อาการปวดตา ปวดหัวที่เกิดจากสาเหตุนี้ มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อแถวต้นคอตามท้ายทอย และมักจะปวดร้าวไปที่บริเวณขมับและหน้าผาก
สาเหตุหลักๆ เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อตา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สายตาเพ่งมองบางสิ่งบางอย่างเป็นระยะเวลานาน และเพ่งอย่างไม่มีจุดโฟกัสที่ดีพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการขยับตัวบ่อยครั้งและล้าจากการใช้งานอย่างหนัก รวมถึงอิริยาบถของการทำงานที่ไม่ถูกต้อง
ข้อสังเกตอีกอย่างที่ควรรู้ คือ ผู้ที่ปวดตา ปวดหัว จากกล้ามเนื้อหดเกร็ง บางรายอาจมีอาการเรื้อรัง ถ้าเป็นคนที่เครียดง่าย แพนิคง่าย หรือมีภาวะข้อต่อกระดูกอักเสบร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะที่เกิดจากสาเหตุนี้ จะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวเท่านั้น และสามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวดทั่วไปได้
2.ไมเกรน
กรณีปวดหัวจากสาเหตุนี้ ค่อนข้างจะเฉพาะบุคคล และมีกลไกของการปวดที่เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดภายในศีรษะ
โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นไมเกรน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นไมเกรนได้เช่นกัน โดยเฉลี่ยจะมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1 ต่อ 10 คน แม้แต่เด็กเล็กก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
อาการปวดหัวที่เกิดจาก ไมเกรน มักมีอาการที่พบได้บ่อย คือ จะเกิดอาการปวดหัวซีกเดียวอย่างรุนแรงเป็นช่วงสั้นๆ ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอารมณ์หงุดหงิด
ส่วนบางคนที่มีอาการปวดตาร่วมด้วย อาจเห็นแสงวิ่งเป็นเส้นหยัก แล้วตามมาด้วยอาการปวดอย่างรุนแรง ขณะที่บางคนเห็นแค่แสง แต่ไม่มีอาการปวด
การดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ ป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดสะสมหรือฉับพลัน เนื่องจากความเครียด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
3. การปวดที่เกิดจากโรคในศีรษะและสาเหตุอื่นๆ
อาการปวดหัวในกลุ่มนี้ มักเกิดจากโรคหลายแบบ เช่น
- อาการปวดหัวที่เกิดจากโรคตา มักเกิดอาการที่ตาหรือคิ้วของข้างที่เป็น และมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สายตามัว มองเห็นไฟเป็นสีรุ้งหรือตาสู้แสงไม่ได้
- อาการปวดหัวที่เกิดจากความดันโลหิต จะมีอาการปวดหัวแบบเรื้อรังหรือเป็น ๆ หายๆ
- อาการปวดหัวที่เกิดจากเนื้องอก ค่อนข้างพบได้น้อย อาการปวดมักมีลักษณะเฉพาะ เช่น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ชา มึนงง แขนขาอ่อนแรง หรือชัก เป็นต้น
ปวดหัว ปวดตา ป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วย 6 วิธีนี้
- พักสายตาจากหน้าจอทุก ๆ 20 นาที ด้วยการมองไกลอย่างน้อย 20 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย พร้อมทั้งกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
- เว้นระยะห่างจากโทรศัพท์มือถือ และจอคอมพิวเตอร์ ประมาณ 30-40 ซม. และปรับระดับให้พอดีกับสายตา
- ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา จะช่วยบรรเทาอาการปวดตา ตาแห้ง แสบตาได้
- จัดแสงบริเวณที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่มืดจนเกินไป หรือแสงจ้ามากเกินไป
- สวมแว่นตากรองแสง เมื่อต้องจ้องจอนาน ๆ
- เสริมด้วยการทานอาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตา ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง ลูทีน ซีแซนทีน เป็นประจำทุกวัน เพื่อบำรุงดวงตาให้แข็งแรง ลดอาการปวดตา ตาแห้ง ตาล้า
——————————————————–
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
>>>>บทความ – Herbitia