“วัยทองเพศชาย” เมื่อพูดถึงคำว่า “วัยทอง” หลายคนมักคุ้นเคยกันดีว่าภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้หญิงวัย 40+ หรือวัยหมดประจำเดือน แต่รู้หรือไม่ว่า? คุณผู้ชายทั้งหลายก็เป็นวัยทองได้เช่นกัน วันนี้ ทางเราจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงอาการวัยทองในเพศชาย สาเหตุ รวมถึงวิธีรับมือกับภาวะนี้กัน
ทำความรู้จัก “วัยทองเพศชาย” คืออะไร?
“อาการวัยทองเพศชาย” หรือที่เรียกว่า “ผู้ชายวัยทอง” (Andropause) มักเกิดขึ้นในช่วงอายุราว ๆ 40-50 ปี เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ตามมา
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ผลิตจากอัณฑะ ซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชาย ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับทำงานส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การสร้างกล้ามเนื้อ ระบบเผาผลาญ เป็นต้น
เช็คสัญญาณ! อาการวัยทองเพศชาย
ส่วนใหญ่แล้ว วัยทองในเพศชาย จะมีอาการไม่ชัดเจนเท่าเพศหญิง โดยอาการที่สังเกตได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้
1. อาการทางด้านร่างกาย
- ความต้องการทางเพศลดลง หรือมีปัญหาอวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่
- ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- มวลกล้ามเนื้อลดลง
- อ้วนลงพุง มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น
- นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท รู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน
2. อาการทางด้านจิตใจและอารมณ์
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย เศร้า เหงา เฉื่อยชา
- มีความเครียด วิตกกังวลเพิ่มขึ้น
- ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
หากคุณผู้ชายท่านใด เริ่มมีอาการดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป แปลว่าคุณกำลังเข้าสู่วัยทอง
“สาเหตุ” อาการวัยทองเพศชาย
สาเหตุหลักของอาการวัยทองเพศชาย มาจากการลดลงของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนี้
- อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะลดลงตามธรรมชาติ และปริมาณจะลดลง 1% ในทุกปี
- กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติผลิตฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดวัยทองก็จะสูงขึ้นเช่นกัน
- มีโรคประจำตัว หากมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน หรือภาวะความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงได้
- การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัด หรือยาลดความดันโลหิตสูง อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงได้
รับมืออย่างไร? ในวันที่เป็น “วัยทองเพศชาย”
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชม./วัน งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ทำกิจกรรมนอกบ้าน พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เพื่อลดการเกิดความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่และหัวใจ เช่น ปั่นจักรยาน Weight Training เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง ของหวาน ให้เน้นทานอาหารที่ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศชาย เช่น ปลาแซลมอน พืชตระกูลถั่ว หอยนางรม ไข่แดง ผักใบเขียว เป็นต้น
- ทานวิตามินหรืออาหารเสริม ที่มีสารสกัดที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ เช่น กิงโกะหรือใบแปะก๊วย ซิงค์ คอปเปอร์ และวิตามิน B
- ใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ปัจจุบัน มีทั้งชนิดรับประทาน และแบบฉีด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- หากมีอาการรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
